ผู้แต่ง
สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี
ประวัติผู้แต่ง
สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงเป็นพระราชธิดา ในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถเสด็จพระราชสมภพ เมื่อวันเสาร์ที่ 2 เมษายน พ.ศ. 2498 ณ พระที่นั่งอัมพรสถานพระราชวังดุสิต โดยสมเด็จพระสังฆราชเจ้ากรมหลวงวชิรญาณวงศ์ เป็นผู้ถวายพระนามว่า "สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิรินธรเทพรัตนสุดากิติวัฒนาดุลโสภาคย์ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ทรง พระปรีชาสามารถ ในด้านต่างๆ ด้านภาษาและวรรณคดี ทรงพระราชนิพนธ์วรรณกรรมร้อยแก้ว ร้อยกรอง และงานแปล งานพระราชนิพนธ์ที่รู้จักแพร่หลาย ได้แก่ ย่ำแดนมังกร แก้วจอมซน ดั่งดวงแก้ว เป็นต้น
จุดมุ่งหมายในการแต่ง
เพื่อแสดงพระราชดำริเกี่ยวกับบทกวีของไทยและบทกวีจีน ซึ่งกล่าวถึงชีวิตและความทุกข์ของชาวนา
ลักษณะคำประพันธ์
ร้อยแก้ว ประเภทบทความ
ความเป็นมา
ทุกข์ของชาวนาในบทกวี มีที่มาจากหนังสือรวมบทพระราชนิพนธ์ในสมเด็จพระเทพ-รัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี เรื่อง มณีพลอยร้อยแสง ซึ่งทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้จัดพิมพ์ขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2533 ในวโรกาสที่พระองค์ทรงเจริญพระชนมายุครบ 3 รอบ โดยนิสิตคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย รุ่นที่ 41 พระราชนิพนธ์นั้นแสดงให้เห็นแนวพระราชดำริเกี่ยวกับบทกวีของไทยและจีนที่กล่าวถึงชีวิตและความทุกข์ของชาวนาซึ่งมีสภาพชีวิตที่ไม่แตกต่างกันนัก
เรื่องย่อ
เนื้อความในตอนแรกของบทความเรื่อง ทุกข์ของชาวนาในบทกวีสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ- สยามบรมราชกุมารีได้ทรงยกบทกวีของจิตร ภูมิศักดิ์ ซึ่งได้กล่าวถึงชีวิตและความทุกข์ยากของชาวนา
ต่อมาทรงแปลบทกวีจีนของหลี่เชินเป็นภาษาไทยทำให้มองเห็นภาพของชาวนาจีน เมื่อเปรียบเทียบกับชาวนาไทยว่า มิได้มีความแตกต่างกัน แม้ในฤดูกาลเพาะปลูก ภูมิอากาศจะเอื้ออำนวยให้พืชพันธุ์ธัญญาหารบริบูรณ์ดี แต่ผลผลิตไม่ได้ตกเป็นของผู้ผลิต คือ ชาวนาเท่าที่ควร ส่วนที่สำคัญที่สุดคือ ทรงชี้ให้เห็นว่าแม้จิตร ภูมิศักดิ์ และหลี่เชินจะมีกลวิธีการนำเสนอบทกวีที่แตกต่างกัน แต่ทั้งสองท่าน มีแนวความคิดที่คล้ายกัน คือมุ่งที่จะกล่าวถึงความทุกข์ยากของชาวนาและทำให้เห็นว่าชาวนาในทุกแห่งและทุกยุคทุกสมัยล้วนประสบแต่ความทุกข์ยากไม่แตกต่างกันเลย
ข้อคิดที่ได้รับ
1. ทำให้เข้าใจความรู้สึกของชาวนาที่ต้องประสบปัญหาต่างๆ
2. ทำให้ได้รู้ถึงความทุกข์ยากความลำบากของชาวนาในการปลูกข้าว
3. ทำให้ได้เห็นถึงคุณค่าของข้าวที่ได้รับประทานเป็นอาหารหลักในการดำรงชีวิตอยู่ของมนุษย์
คำศัพท์
กำซาบ
|
ซึมเข้าไป
|
เขียวคาว
|
สีเขียวของข้าว
ซึ่งน่าจะหอมสดชื่นกลับมีกลิ่นเหม็นคาว เพราะข้าวนี้ เกิดจากหยาดเหงื่อ
ซึ่งแสดงถึงความทุกข์ยากและความชมชื่นของชาวนา
|
จำนำพืชผลเกษตร
|
การนำผลผลิตทางการเกษตร
เช่น ข้าวไปฝากกับหน่วยงานที่รับฝากไว้ก่อนเพื่อเอาเงินในอนาคตมาใช้ก่อน
|
ฎีกา
|
คำร้องทุกข์ การร้องทุกข์
|
ธัญพืช
|
มาจากภาษาบาลีว่า ธัญพืช เช่น ข้าว ข้าวสาลี ข้าวโพด ที่ให้เมล็ด
เป็นอาหารหลัก
|
นิสิต
|
ผู้ที่ศึกษาอยู่ในมหาวิทยาลัย
|
ประกันราคา
|
การที่รัฐ เอกชน หรือองค์กรต่าง
ๆ รับประกันที่จะรับซื้อผลผลิตตามราคา
ที่กำหนดไว้ในอนาคต ไม่ว่าราคาในอนาคตจะเปลี่ยนแปลงไปก็ตาม
|
เปิบ
|
หรือ เปิบข้าว หมายถึง วิธีการใช้ปลายนิ้วขยุ้มข้าวใส่ปากตนเอง
|
พืชเศรษฐกิจ
|
พืชที่สามารถขายได้ราคาดี พืชเศรษฐกิจที่สำคัญของไทย
เช่น ข้าว ยางพารา อ้อย ปาล์มน้ำมัน
|
ภาคบริการ
|
อาชีพที่ให้บริการผู้อื่น เช่น พนักงานในร้านอาหาร ช่างเสริมสวย
|
วรรณศิลป์
|
ศิลปะในการประพันธ์หนังสือ
|
สวัสดิการ
|
การให้สิ่งที่เอื้ออำนวยให้ผู้ทำงานมีชีวิตและสภาพความเป็นอยู่ที่ดี และมีความสะดวกสบาย เช่น มีสถานพยาบาล มีที่พักอาศัย จัดรถรับส่ง
|
สู
|
สรรพนามบุรุษที่ 2 เป็นคำโบราณ
|
อาจิณ
|
ประจำ
|
อุทธรณ์
|
ร้องเรียน ร้องทุกข์
|
ลำเลิก
|
กล่าวทวงบุญคุณ กล่าวคำตัดพ้อต่อว่า โดยยกเอาความดีที่ตนทำไว้ให้แก่อีกฝ่ายหนึ่ง เพื่อให้สำนึกบุญคุณที่ตนมีอยู่กับผู้นั้น
|
ความรู้เพิ่่มเติม
จิตร ภูมิศักดิ์ เป็นนักคิดด้านการเมือง นักประวัติศาสตร์ และนักภาษาศาสตร์ นับเป็นนักปราชญ์และนักปฏิวัติทางความคิดและวิชาการคนสำคัญของประเทศไทย จิตรเป็นนักวิชาการคนแรกๆ ที่กล้าถกเถียงและคัดค้านปราชญ์คนสำคัญ ด้วยวิธีคิดที่มีเหตุผลและลุ่มลึก มีความโดดเด่นจากผลงานการค้นคว้าทางวิชาการที่แปลกใหม่และลึกซึ้ง ขณะเดียวกันจิตรยังมีความคิดต่อต้านระบบเผด็จการและการใช้อำนาจกดขี่ของชนชั้นสูงมาโดยตลอด
จิตรเป็นบุตรของ นายศิริ ภูมิศักดิ์ และนางแสงเงิน ภูมิศักดิ์ มีชื่อเดิมว่า สมจิตร ภูมิศักดิ์ แต่ต่อมาเปลี่ยนเป็น จิตร เพียงคำเดียว ตามนโยบายตั้งชื่อให้ระบุเพศชายหญิงอย่างชัดเจน ของ จอมพล ป. พิบูลสงคราม
จิตรเสียชีวิตในปี พ.ศ. 2509 หลังเข้าร่วมกับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย โดยถูกอาสาสมัครและทหารล้อมยิง
วิเคราะห์วิจารณ์
การแต่งทุกข์ของชาวนาในบทกวีนับเป็นตัวอย่างอันดีของบทความที่สามารถยึดถือเป็น-แบบอย่างได้ ด้วยแสดงให้เห็นแนวความคิดชัดเจน ลำดับเรื่องราวเข้าใจง่าย และมีส่วนประกอบของงานเขียนประเภทบทความอย่างครบถ้วน เนื้อเรื่องวิจารณ์เกี่ยวกับกลวิธีการนำเสนอบทกวี ของจิตร ภูมิศักดิ์ และองหลี่เชิน โดย ทรงยกเหตุผลต่าง ๆ และทรงแสดงทัศนะประกอบ สำหรับกลวิธีการอธิบายนั้นให้ความรู้เชิง วรรณคดีเปรียบเทียบแก่ผู้อ่าน โดยทรงใช้การเปรียบเทียบการนำเสนอของบทกวีไทยและบทกวีจีนว่า เทคนิคในการเขียนของหลี่เชินกับของจิตรต่างกันคือหลี่เชินบรรยายภาพที่เห็น เหมือนจิตรกรวาดภาพให้คนชม ส่วนจิตรใช้วิธีเสมือนกับนำชาวนามาบรรยายเรื่องของตนให้ผู้อ่านฟังด้วยตนเอง
สรุป
พระราชนิพนธ์เรื่อง ทุกข์ของชาวนาในบทกวี แสดงให้เห็นถึงความเข้าพระทัยและเอาพระทัยใส่ในปัญหาการดำรงชีวิตของชาวนาไทย ทั้งยังสะท้อนให้เห็นถึงพระเมตตา อันเปี่ยมล้นของพระองค์ที่ทรงมีต่อชาวนาผู้มีอาชีพปลูกข้าวเป็นหลัก เริ่มชีวิตและการทำงานตั้งแต่เช้าจรดค่ำ ทำงานแบบหลังสู้ฟ้า หน้าสู้ดิน ตลอดทั้งปี ดังนั้นในฐานะผู้บริโภค จึงควรสำนึกในคุณค่าและความหมายของชาวนาที่ปลูกข้าวอันเป็นอาหารหลักเพื่อการมีชีวิตอยู่รอดของคนไทย
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น